วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

หมากคร่ำศรี


ผู้คนในสยามประเทศนับล่วงเวลา 30-40 ปีขึ้นไป นิยมกินหมาก โดย การนำหมากเคี้ยวกับพลูและปูนแดง ผู้เฒ่าผู้แก่ไปไหนมาไหนจึงมักจะ กระเตงเชี่ยนหมากติดตัวไปด้วย หรือหากอายุมากแล้วก็จะเป็นภาระของบุตร หลานที่ต้องถือไปให้ท่าน ในเชี่ยนหมากจะพบลูกหมาก พลู ปูนแดง มีดหั่น หมาก ตะบันหมาก ผ้าเช็ดปาก และกระป๋องนมข้นเปล่า (ปัจจุบันพบว่าใช้ถุง พลาสติก) สำหรับบ้วนน้ำหมาก ผู้กินหมากปากจะแดงไปด้วยสีของน้ำหมาก และฟันจะมีสีน้ำตาลแดงจนสีดำเข้ม อันเนื่องมาจากคราบของแทนนิน แต่ ปัจจุบันจะพบเห็นผู้ที่กินหมากน้อยลง หมากจึงเป็นสัญลักษณ์ของความ คร่ำครึโบราณ แต่แท้จริงแล้วหมากยังคงเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์มาก ในด้านการรักษาโรคของมนุษย์และสัตว์



หมากเป็นพืชในวงศ์ Palmae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Areca catechu Linn. ชื่อทั่วไปภาษาอังกฤษว่า Areca palm หรือ betel nut palm สำหรับชื่อท้องถิ่น ได้แก่ เค็ด พลา สะลา เซียด (จังหวัดนครราชสีมา) แซ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) ปีแน ปีนัง (มาเลเซีย) มะ (ตราด) สีซะ (กะเหรี่ยง พายัพ) หมาก หมากเมีย (ชื่อทั่วไปไทยภาคกลาง) หมากมู้ (ฉาน แม่ฮ่องสอน) โดยหมากมีถิ่นกำเนิด ในทวีปเอเชียเขตร้อน

หมากมีลำต้นโต ลำต้นโดยธรรมชาติจะตั้งตรงสูงชะลูดเป็นปล้อง ไม่มี กิ่งก้านตามลำต้น แตกกิ่งก้านใบอยู่ที่ยอดของลำต้น ใบเล็กยาวมาก ดอกออก เป็นช่อ ลูกออกเป็นพวงเรียกว่า ทะลายหมาก ผลที่ยังไม่แก่เรียก หมากดิบ ผลที่แก่จัดเรียก หมากสง เนื้อหมากที่ฝานบางๆ แล้วตากแห้ง มีลักษณะคล้าย อีแปะ เรียก หมากอีแปะ ส่วนผลแก่จัดที่เก็บไว้ทั้งเปลือกเพื่อไว้กินนานๆ เรียก หมากยับ หมากดิบมีสีเขียวจัดเมื่อแก่จัดจะมีสีแสด เมล็ดหมากมีลักษณะ เกือบกลม เมื่อผ่าตามขวาง จะเห็นลายภายในสีน้ำตาลแก่สลับขาว เหมือน ลายหินอ่อน มีรสฝาดเฝื่อน


องค์ประกอบสำคัญทางเคมีที่พบในหมาก ได้แก่ แอลคาลอยด์ เช่น arecoline, arecolidine, arecoidine และ guvacine ส่วนสารฝาด ได้แก่ แทนนิน (tannin)


ส่วนที่ใช้ประโยชน์และสรรพคุณ


เมล็ดหมาก


-ใช้ฟอกหนัง เนื่องจากมีปริมาณแทนนินสูงและใช้เป็นส่วนผสมของ การย้อมผ้าสีกากี แหและอวนที่ทำจากด้าย


- หมากสง ใช้เป็นยาขับเหงื่อ ทำให้ม่านตาหรี่


- กินกับพลูและปูนแดง ทำให้เหงือกแข็งแรง

- หมากมีแอลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์เป็นยากล่อมประสาท


- ฝานเนื้อหมากดิบ ทารักษาแผลน้ำกัดตามง่ามมือ เท้า


- รับประทานแก้ท้องร่วง อาเจียน


- ฝนทาปาก เป็นยาสมานแผล ปากเปื่อย

- ใช้เป็นยาเบื่อพยาธิในมนุษย์


- สำหรับสัตว์มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย เบื่อพยาธิตัวกลมและตัวแบน


รากหมาก


- ต้มอมแก้ปากเปื่อย ร้อนใน กระหายน้ำ แก้บิด ขับปัสสาวะ

ใบหมาก


- ต้มอาบแก้คัน ผสมกับยารับประทาน ใช้ลดไข้


จึงเห็นได้ว่าหมากซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจในอดีต แต่ในปัจจุบันเกษตรกร ให้ความสำคัญน้อยและปลูกน้อยลง อันเนื่องจากความนิยม และการบริโภค ลดลง แต่ก็ยังสามารถพัฒนาเป็นยาสมุนไพรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับหมากได้ หากมีการประสานการวิจัยค้นคว้าศึกษาทางวิทยาศาสตร์ให้แพร่หลาย มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น